สมาคมธนาคารไทยส่งหนังสือ “ผู้ว่าการแบงก์ชาติ” เคลียร์ประเด็นแฮร์คัตหนี้

พักหนี้-กู้เงิน

สมาคมแบงก์หวั่นแฮร์คัตก่อ Moral Hazard ส่งจดหมายถึง ธปท.รอบคอบ หนุนใส่รหัสสถานะบัญชี เพื่อแสดงข้อเท็จจริง หวั่นก่อหนี้เพิ่ม ด้าน บล.เอเซีย พลัส ชี้จดหมายออกก่อน ธปท.ออกมาตรการ เชื่อช่วยแบงก์มีเวลาตั้งสำรอง แต่ยังไม่สะท้อนงบฯแท้จริง

วันที่ 23 สิงหาคม 2564 ตามที่มีรายงานก่อนหน้าว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องการให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยการให้ส่วนลดมูลหนี้ (แฮร์คัต) ลูกหนี้มากกว่าการปรับโครงสร้างหนี้โดยขยายระยะเวลา หรือการพักหนี้ที่เป็นการประวิงเวลาเท่านั้น

จากประเด็นดังกล่าว สมาคมธนาคารไทย (TBA) ทำหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลงนามโดยนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ถึงข้อห่วงใยและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการออกแนวทางการจัดชั้นและการกันเงินสำรองในระยะถัดไป

ห่วงลูกหนี้แห่ Haircut จนเกิด Moral Hazard

โดยอ้างถึงหนังสือธนาคารแห่งประเทศไทยที่ ธปท.ฝนส.(23) ว.276/2563 เรื่องแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองให้กับสถาบันการเงิน (สง.) เพื่อให้ สง.สามารถให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา-19 ได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากหนังสือที่ ธปท.ฝนส.(23) ว.276/2563 สิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 นั้น

สมาคมธนาคารไทยเห็นด้วยกับแนวนโยบายของ ธปท.ที่จะให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้แบบยั่งยืน เพราะการแก้ไขหนี้ในรูปแบบชั่วคราว เช่น การพักชำระหนี้นั้นเป็นเพียงแค่การประวิงปัญหาออกไปข้างหน้า มิได้เป็นการแก้ไขปัญหาของลูกหนี้ให้ตรงอาการกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปและมีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์มาก และขอขอบคุณ คุณสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับ สถาบันการเงิน 2 และทีมงาน ธปท.ที่ได้รับฟังความคิดเห็นจากธนาคารสมาชิกของสมาคมอย่างใกล้ชิดและพยายามช่วยหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้การออกมาตรการที่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง

อย่างไรก็ดี เนื่องจากที่ผ่านมาสมาคมและธนาคารสมาชิกได้เห็นเพียงสไลด์กรอบแนวคิดและแนวทางที่ ธปท. จะใช้เป็นเกณ์ในการจัดแบ่งกลุ่มลูกหนี้เป็นสีฟ้า-ส้ม และข้อผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้น และกันสำรองสำหรับกลุ่มลูกหนี้ดังกล่าวเท่านั้น แต่สมาคมและธนาคารสมาชิกยังไม่มีโอกาสได้เห็นร่างหนังสือเวียนที่จะออกจริงว่ามีนิยามหรือข้อความอย่างไร คณะกรรมการสมาคมจึงมีความกังวลและความห่วงใยในข้อความหรือตัวอย่างที่จะปรากฏอยู่ในหนังสือเวียนดังกล่าว หรือข้อความ / Infographic ที่ ธปท.จะสื่อสารโดยเฉพาะประเด็นเรื่องการ Haircut เนื่องจากเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับภาคธนาคารอย่างยิ่ง เพราะสถานการณ์ Covid ก็ส่งผลกระทบต่อผลกำไร และสถานะเงินกองทุนของธนาคารเช่นเดียวกัน

ดังนั้น หากสื่อมวลชนหยิบยกประเด็นนี้และสื่อสารชี้นำสังคมไปในทางทิศทางว่า ธปท.สนับสนุนให้สถาบันการเงิน Haircut ให้ลูกหนี้ย่อมจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบสถาบันการเงิน หากการสื่อสารไม่ระมัดระวัง และรัดกุมเพียงพอจะก่อให้เกิด Moral Hazard อันจะส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ดีที่ยังจ่ายชำระตามปกติก็จะเข้ามาขอ Haircut ด้วย

หนุนใส่รหัสลูกค้าหวั่นก่อหนี้เพิ่ม

สมาคมจึงใคร่ขอ ธปท.โปรดกรุณาเพิ่มความระมัดระวังระดับสูงสุดสำหรับ ข้อความและตัวอย่างในหนังสือเวียน ตลอดจนข้อความ/ Infographic หรือเอกสารต่าง ๆ ที่ ธปท.จะสื่อสารกับสื่อมวลชนและสาธารณชน นอกจากนี้ คณะกรรมการสมาคมเห็นว่า ลูกหนี้ที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ โดยสถาบันการเงินได้ Haircut เงินต้นนั้น ลูกหนี้ดังกล่าวเป็นกลุ่มที่สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่จนสถาบันการเงินมีส่วนสูญเสียจำนวนมากแล้ว

จึงเห็นว่าลูกหนี้เองก็ควรมีวินัย ไม่ไปก่อหนี้ใหม่จนเกินตัวอีกเช่นกัน เพราะอาจจะนำมาสู่ปัญหาภาระหนี้เกินตัวเช่นเดิมอีก ทั้งเพื่อเป็นการป้องปรามลูกหนี้ที่ไม่ได้มีปัญหามากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่อาจมีเจตนาไม่สุจริตอยากได้สิทธิ Haircut เช่นเดียวกับลูกหนี้ที่ประสบปัญหามากกว่าและต้องการความช่วยเหลืออย่างมาก คณะกรรมการสมาคมจึงเห็นความจำเป็นของการมี flag หรือใส่รหัสสถานะบัญชี เพื่อแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการได้รับ Haircut ในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ที่ NCB เพื่อให้สถาบันการเงินอื่นทราบและพิจารณาความเสี่ยงอย่างรอบคอบก่อนที่สถาบันการเงินอื่นจะอนุมัติให้ลูกหนี้มีการก่อหนี้เพิ่มเติม

สมาคมจึงขอเสนอให้คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตประกาศใช้รหัสสถานะ 21 และหรือให้ NCB เพิ่มรหัส “วัตถุประสงค์” หรือ Loan Objective ในทำนองเดียวกับลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ที่มีรหัส “44444” เพื่อให้สถาบันการเงินทราบว่าเป็นลูกหนี้กลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษในระบบงานของ NCB ต่อไป

บล.เอเซียชี้จดหมายออกก่อน ธปท.ประกาศมาตรการ

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมธนาคารไทยส่งหนังสือลงวันที่ 18 ส.ค. 2564 ค้านการแฮร์คัตหนี้เป็นการทั่วไป ซึ่งจะก่อให้เกิดประเด็น Moral hazard กล่าวคือลูกหนี้ที่ยังจ่ายชำระตามปกติ อาจเข้ามาขอแฮร์คัตด้วย ในความเห็นฝ่ายวิจัยพิจารณาว่าจดหมายเปิดผนึกจากสมาคมธนาคารไทย ลงวันที่ 18 ส.ค. 64 ออกมาก่อนที่ ธปท.จะออกข่าวมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ผ่านมา

โดยตามข่าวจาก ธปท.ได้เปิดเผยแล้วว่า “มาตรการช่วยเหลือต้องเป็นธรรมกับเจ้าหนี้และลูกหนี้ นอกจากนี้ต้องไม่สร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม (Moral hazard) ให้กับลูกหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบ”

ฝ่ายวิจัยมองการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นสิ่งที่กลุ่มดำเนินการมาตลอด จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยมาตรการข้างต้นช่วยให้ ธ.พ.มีระยะเวลาในการตั้งสำรอง (ECL) มากขึ้น เอื้อต่อการบริหารจัดการ Credit cost เพียงแต่ย่อมได้อย่างเสียอย่างกับการที่งบการเงินอาจยังไม่สะท้อน Credit Risk ของลูกหนี้ที่แท้จริง

ส่วนเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เนื่องจากประมาณการ ธ.พ. ใหญ่ปี 2565 ของฝ่ายวิจัย อยู่บนสมมุติฐานที่ ธ.พ.ใหญ่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย M–rate ชดเชย FIDF ที่กลับไปสู่ 0.46% จึงไม่มี Upside ตรงข้ามกับ TISCO และ KKP ที่โครงสร้างสินเชื่ออิงกับ Fix Rate เป็นหลัก ทำให้มี Upside risk ต่อกำไรปี 2565 ไม่เกิน 10% ตามประมาณการฝ่ายวิจัยคงประมาณการกำไรสุทธิกลุ่มปี 2564-2565 ให้น้ำหนักเท่าตลาด มองว่ามูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (PBV) กลุ่มซื้อขายที่ 0.6 เท่า สะท้อนความเสี่ยงด้านงบดุลมากพอควรแล้ว เลือก top pick ตามเดิม KBANK, SCB และ TISCO