“เครดิตบูโร” เปิด 2 จุดเสี่ยง หนี้ครัวเรือนไทย

หนี้ หนี้ครัวเรือน

เครดิตบูโรเปิด 2 จุดเสี่ยง หนี้ครัวเรือนไทย ชี้ 27% เป็นการกู้เงินเพื่อการกินและใช้ ต้องนำรายได้อนาคตมาใช้หนี้ ด้าน NPL ไตรมาส 3 พุ่ง 7.7% เผย ธปท.คาดลูกหนี้กลับมาฟื้นตัว ม.ค. 67

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง ภาวะหนี้ครัวเรือนปัจจุบัน : มุมมองเครดิตบูโร ในงานประชุมสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย ว่า หนี้ครัวเรือนไทยที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานล่าสุดอยู่ที่ 14.27 ล้านล้านบาท หากเทียบกับจีดีพีอยู่ที่ 89.3% ส่วนข้อมูลหนี้ครัวเรือนที่เก็บจากเครดิตบูโรจะมี 12.4 ล้านล้านบาท

โดยข้อมูลจากเครดิตบูโร 31 ล้านลูกหนี้ เป็นตัวแทนหนี้ครัวเรือนไทยที่เป็นฐานข้อมูลหลัก ซึ่งหนี้ครัวเรือนไทยที่น่ากลัวมีอยู่ 2 จุด ได้แก่ 20.7% เป็นการใช้เพื่อการบริโภคและสินเชื่อบัตรเครดิตอีก 7% ฉะนั้น 27% เป็นการกู้เงินเพื่อการกินและใช้ แล้วขณะนี้ต้องนำรายได้ที่เกิดขึ้นในอนาคตมาชำระหนี้ ซึ่งเกิดคำถามว่าถ้ามีการว่างงาน ว่างงานเสมือน หรือกลับถิ่น แล้วจะชำระหนี้กันได้อย่างไร

“หากเทียบกับสหราชอาณาจักรมีหนี้ครัวเรือน 87% ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย หรือมาเลเซียจากหนี้ครัวเรือน 100 บาท เป็นหนี้บ้าน จำนวน 52 บาท ส่วนคนไทยจาก 100 บาท เป็นหนี้บ้าน 34 บาท แต่มีหนี้ 27 บาทที่เป็นหนี้กินใช้ ซึ่งเป็นความน่ากลัวของลักษณะของความเป็นหนี้”

นอกจากนี้ หากเจาะฐานข้อมูลเครดิตบูรโรที่มี 12.4 ล้านล้านบาท พบว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยเติบโตประมาณ 6.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ยอดสินเชื่อประมาณ 4.5 ล้านล้าบาท สินเชื่อส่วนบุคคล 2.4 ล้านล้านบาท เติบโต 2% บัตรเครดิตเพียง 4.8 แสนล้านบาท ขยายตัว 0.6%

ขณะที่หนี้เสียตามข้อมูลของเครดิตบูโรก่อนโควิดอยู่ที่ 8.1% คิดเป็นประมาณ 9 แสนล้านบาท และก็มีช่วงที่ออกมาตรการชะลอการชำระหนี้ NPL ตกท้องช้างลงมา และเมื่อปลดมาตรการปรับโครงสร้างหนี้สมัครใจเอง NPL เริ่มขยับขึ้นไปเรื่อย ๆ โดย NPL ขยับจากไตรมาส 2 ของปีนี้ไปไตรมาส 3 ของปีนี้อยู่ที่ 7.7% ส่งผลให้ผู้ที่เริ่มค้างชำระแต่ยังไม่เป็น NPL เพิ่มขึ้น 2.5%

“หากรวมกัน NPL จะเท่ากับกว่า 10% โดยส่วนนี้ยังไม่รวมถึงผลของโควิดสายพันธุ์เดลต้า และมาตรการของแบงก์รัฐที่จะหมดสิ้นปีนี้ รวมถึงมาตรการของแบงก์รัฐที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรจะสิ้นสุด มี.ค. 2565 ฉะนั้น หลัง มิ.ย. 2565 หากไม่มีมาตรการพิเศษแล้ว มีการปรับโครงสร้างหนี้ตามแนวทางจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น ซึ่งขณะนี้ปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว 8.5 แสนล้านบาท เป็น NPL 9.7 แสนล้านบาท ก็มีแนวโน้มจะไปแตะ 1 ล้านล้านบาท”

ทั้งนี้ ในปี 2565 และ 2566 จะเป็นปีมหกรรมปรับโครงสร้างหนี้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าลูกหนี้จะเริ่มฟื้นตัว ม.ค. 2567 เป็นต้นไป ซึ่งหวังว่าการเปิดประเทศจะเร่งทำให้ลูกหนี้กลับมาฟื้นช่วงกลางปี 2566

สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนในระยะยาว มีการปรับโครงสร้างหนี้ 9 วิธี ได้แก่

1. ลดภาระหนี้

2. ลดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญา หรือปรับเงื่อนไขการจ่ายที่ให้ผลประโยชน์แก่ลูกหนี้ ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาลดลง

3. รับโอนทรัพย์ชำระหนี้

4. แปลงหนี้เป็นทุน/ตราสารหนี้แปลงสภาพ

5.ปรับ structure ของหนี้ จากสั้นเป็นยาว

6. ปรับโครงสร้างหนี้

7.ขยายเวลาการชำระหนี้

8. ให้ grace period เงินต้น/ดอกเบี้ย

9. ปรับ structure ของหนี้จากสั้นเป็นยาวเพียงอย่างเดียว