พิโกฯหนี้ NPL พุ่งกระฉูด 30% เศรษฐกิจทรุด-โควิดซ้ำ-กู้นอกระบบแข่งเดือด

ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์กระอัก หนี้เสีย NPL พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 15-30% หลังโดนพิษเศรษฐกิจทรุด-โควิดซ้ำ 2 ปี ทำลูกค้าหลักคนฐานราก เกษตรกร-แม่บ้าน-พ่อค้า-แม่ค้าขาดรายได้

รับผลกระทบหนักจากมาตรการปิดสถานที่เสี่ยง ตลาดร้านอาหารทำให้ต้องปิดกิจการ ตกงาน ด้านผู้ประกอบการพิโกฯต่างจังหวัดคุมเข้มปล่อยกู้เพิ่ม ชี้ภาครัฐไร้การช่วยเหลือ

ผู้ประกอบการพิโกฯหลายรายไร้แหล่งเงินทุน ไปต่อไม่ไหว ต้องชะลอ-ปิดกิจการ คาดสถานการณ์ซบยาวถึงกลางปี 2565 แถมเจอคู่แข่งหนี้นอกระบบกำลังบุกหนัก โดยเฉพาะการกวาดลูกค้าผ่านตลาดออนไลน์

ขอนแก่นชี้นอกระบบระบาด

นายบูรพงศ์ วรรักษ์ธารา กรรมการผู้จัดการ บริษัท บูราพาณิชย์ จำกัดผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ พลัส จังหวัดขอนแก่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทบูราพาณิชย์ปล่อยวงเงินสินเชื่อลดลงไปกว่า 10-20%

เนื่องจากลูกค้าหลายรายเริ่มมีปัญหาส่งสัญญาณว่า ไม่มีความสามารถชำระเงินคืนได้ ส่งผลให้ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปัจจุบันพุ่งขึ้นไปที่ 15-19% ต่างจากช่วงสถานการณ์ปกติก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีตัวเลข NPL อยู่เพียง 8-12% เท่านั้น

โดยปัจจัยหลักมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กินเวลายืดเยื้อและยาวนาน แม้รัฐบาลเริ่มมีนโยบายปลดล็อกมาตรการต่าง ๆ รวมถึงแผนการเปิดเมืองฟื้นเศรษฐกิจ

แต่ยังไม่ใช่ตัวกระตุ้นให้กับกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทที่เป็นแรงงานระดับฐานราก เกษตรกร แม่บ้าน พ่อค้าแม่ค้า และข้าราชการบางส่วน เพราะการเปิดเมืองน่าจะตอบโจทย์ภาคธุรกิจท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวหลัก

ซึ่งลูกค้าของบริษัทบูราพาณิชย์จะอยู่ในส่วนท้ายที่ได้รับอานิสงส์จากแผนดังกล่าว ซึ่งอาจจะต้องอาศัยความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในประเทศเป็นตัวหนุนและใช้เวลานานพอสมควร

“ตอนนี้รัฐบาลได้ออกกฎระเบียบ กฎหมายในการควบคุมผู้ประกอบการธุรกิจพิโกฯค่อนข้างมาก เช่น การลดเพดานดอกเบี้ย ลดค่าติดตามทวงถามหนี้ผู้ประกอบการหลายคนเริ่มขอหยุดกิจการชั่วคราว

หรือเตรียมปิดกิจการเพราะขาดทุนจากสถานการณ์ช่วงดังกล่าว หลายคนบ่นกันว่าเราทำธุรกิจช่วยเหลือประชาชน แต่รัฐบาลไม่ได้มีมาตรการหรือออกกฎอะไรมาช่วยเหลือผู้ประกอบการพิโกฯอย่างเราเลย”

ปัจจุบันบริษัทบูราพาณิชย์ค่อนข้างเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า โดยคนส่วนใหญ่ที่มาขอกู้ต่างก็มีหนี้สินที่ค้างอยู่ และต้องการเงินไปโปะหนี้อีกที

มองว่าในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 สถานการณ์จะไม่ดีขึ้น คาดว่ากลางปีหน้าจึงจะเห็นความเคลื่อนไหวที่ชัดเจน

นอกจากนี้ ยังติดปัญหาเดิม ผู้ประกอบการต้องใช้เงินทุนเดิมของตัวเองโดยไม่มีแหล่งเงินทุนใหม่มาสนับสนุน หลายรายต่างต้องประเมินความเสี่ยงของตัวเอง ทำให้การแก้ไขหนี้นอกระบบโดยพิโกไฟแนนซ์ไปได้ไม่สุดทาง

ปัจจุบันคนที่ปล่อยเงินกู้นอกระบบหรือมิจฉาชีพกำลังหลอกปล่อยสินเชื่อผ่านระบบออนไลน์อยู่จำนวนมาก แต่ไม่แสดงตัวเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ทั้งยังมีการข่มขู่โดยใช้ข้อมูลลูกค้าที่อยู่ในมืออีก

ขณะที่ผู้ประกอบการพิโกฯที่มีการปล่อยสินเชื่อผ่านออนไลน์แบบถูกกฎหมาย (ตามร่างกฎหมายใหม่) กลับต้องขออนุมัติและรอการอนุมัติก่อน ทำให้การแข่งขันกับระบบนอกกฎหมายทำได้ยาก

เพชรบูรณ์ขอแหล่งเงินหนุน

นายวชิระ โรจน์ทิพยรัก กรรมการผู้จัดการ บริษัทกลุ่ม ฉัตรฟ้า ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์จังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

ในช่วงที่มีมาตรการควบคุมโควิด-19 ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ภาคบริการเกิดการชะลอตัว อย่างในจังหวัดเพชรบูรณ์การจ้างงานลดลงโดยเฉพาะศูนย์การค้าที่ต้องใช้พนักงานเป็นจำนวนมาก

รวมถึงบริษัทหลายแห่งมีการปรับตัว ปรับโครงสร้างและลดจำนวนพนักงานลงเช่นกัน แรงงานในพื้นที่ซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัทกลุ่มฉัตรฟ้าจึงขาดรายได้ เกิด NPL พุ่งขึ้นเฉลี่ยสูงถึง 30% จากปกติอยู่ที่ 12-15%

ปัจจุบันทางจังหวัดกำลังเร่งแก้ไขสถานการณ์ผลักดันภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างเงิน ฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาโดยเร็ว เพราะกำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวแล้ว แม้ยังติดปัญหาเรื่องที่ดินซึ่งยังเป็นข้อพิพาทในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

เช่น เขาค้อ โดยมีที่พักจำนวนมากที่มีคำสั่งห้ามเปิดบริการ และสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจส่งผลกระทบในส่วนนี้ แค่คาดว่าสถานกาณรณ์ต่าง ๆ ในช่วงปลายปีจะปรับไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทกลุ่มฉัตรฟ้ามีธุรกิจพิโกฯในเครืออยู่ 10 บริษัท กระจายใน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก นครสวรรค์ และลพบุรี ปล่อยสินเชื่อไปแล้วรวมกว่า 60 ล้านบาท

โดยยอดกู้ยืมของลูกค้าส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ 30,000-40,000 บาท/ราย และถึงจะมีหนี้เสียแต่บริษัทมีการปรับโครงสร้างหนี้ยืดหยุ่น

ผ่อนผันช่วยเหลือลูกค้าอยู่ตลอด จึงสามารถหมุนเวียนการปล่อยสินเชื่อไปได้เรื่อย ๆ ควบคู่ไปกับความเข้มงวดในการพิจารณาคัดเลือกลูกค้าในการปล่อยกู้ใหม่มากขึ้น

“ตอนนี้ยังเห็นคนมาขอกู้เงินเยอะพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพพนักงานอัตราจ้างส่วนใหญ่จะขอกู้เท่าที่จำเป็น เพราะไม่รู้จะหาเงินมาคืนได้หรือเปล่า เนื่องจากเศรษฐกิจในช่วงนี้ซึมไปเยอะ

ผู้คนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง และผู้ประกอบการพิโกฯทั่วประเทศก็ประสบปัญหาเดียวกันอยู่คือขาดแคลนเงินทุน ซึ่งพิโกไฟแนนซ์เข้าไม่ถึงซอฟต์โลนเหมือนธุรกิจอื่น ถึงแม้ธนาคารออมสินเคยจะปล่อยกู้ให้กับพิโกไฟแนนซ์แต่มีข้อจำกัดในระยะเวลาเพียง 1 ปี

ขณะที่ลูกค้าของพิโกฯจะมีระยะเวลาใช้หนี้นาน 1-2 ปีขึ้นไป หากภาครัฐสามารถขยายเวลาสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเป็น 3-5 ปีได้ พิโกไฟแนนซ์จะสามารถขยายความสามารถในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้ดีขึ้นได้อย่างมาก”

นายวชิระกล่าวว่า แม้ธนาคารจะมองว่าธุรกิจพิโกไฟแนนซ์เป็นคู่แข่ง แต่มีข้อแตกต่างกันอยู่พอสมควร โดยพิโกไฟแนนซ์จะเป็นแหล่งเงินกู้ด่านสุดท้ายสำหรับคนที่ติดเครดิตบูโร

เกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคาร พิโกไฟแนนซ์จึงเป็นสถาบันการเงินที่พึ่งสุดท้ายก่อนหันไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ และผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์เห็นปัญหาและเข้าถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้ใกล้ชิดและดีกว่าธนาคาร

จันทบุรีจี้รัฐจริงใจช่วยเหลือ

นายสุพงศ์ ศิลารัตนชัย กรรมการผู้จัดการ หจก.999 พิโกพลัส จังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า สถานการณ์ของธุรกิจพิโกฯตอนนี้ไม่ค่อยดีนัก หจก.999 พิโกพลัส จากเคยมีอยู่ 2 สาขาก็เหลือเพียงสาขาเดียว

เพราะลูกค้าชะลอตัวในการใช้หนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันเกิดหนี้เสียสูงถึง 25% จากเงินทุนที่ปล่อยกู้ไปประมาณ 10 กว่าล้านบาท โดยวงเงินที่ลูกค้าขอกู้เฉลี่ยตั้งแต่ 20,000-50,000 บาท/ราย

ลูกค้าหลายคนเข้ามายื่นขอพักชำระหนี้ ขณะเดียวกัน อีกหลายคนทาง หจก.เตรียมตัวยื่นฟ้อง โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าตามตลาดนัดที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักที่ไม่สามารถทำการค้าขายได้ เนื่องจากตลาดถูกสั่งปิดตามมาตรการควบคุมโควิด-19

“แม้เราจะเป็นธุรกิจที่เข้ามาแก้ไขหนี้นอกระบบ แต่ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาสนับสนุนหรือช่วยเหลือในการแก้ปัญหาเลย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนแหล่งเงินกู้ การตามหนี้กับลูกค้าหรือการฟ้องร้องตามดอกเบี้ยที่ถูกกำหนดไว้

ซึ่งการดำเนินการต่าง ๆ ยังไม่คุ้มกับค่าทนายเลย เราทำงานอยู่ฝ่ายเดียว ดิ้นรนด้วยตัวเองทั้งหมด แม้จะมีการพูดคุยกับภาครัฐหรือส่วนราชการก็ไม่ได้ช่วยอะไร

ไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรเลย ทำให้ช่วงนี้เราเริ่มปล่อยกู้น้อยลง ตรวจสอบเข้มหน่อย ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันซึ่งช่วยให้มั่นคงขึ้น”

นายสุพงศ์กล่าวว่า พิโกไฟแนนซ์จะไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้เลยหากรัฐบาลไม่จริงใจในการช่วยเหลือประชาชน ที่นำเจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาในระบบก็จะเป็นได้แค่นโยบายหาเสียง

เพราะสุดท้ายเมื่อมีปัญหารัฐก็ปล่อยให้ผู้ประกอบการลอยแพ และคนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ก็จะหันไปพึ่งหนี้นอกระบบที่ยังมีอยู่เกลื่อนไปทั่ว

อย่างไรก็ตาม การเกิด NPL ขนาดนี้ในธุรกิจพิโกฯถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากหลายสาเหตุหลายปัจจัยเข้ามารวมกันทั้งภาวะเศรษฐกิจ โรคระบาด รวมถึงขีดความสามารถในการหาเงินของลูกค้าที่ลดลงด้วย

คาดว่าสถานการณ์ในไตรมาสสุดท้ายของปีจะยังไม่ดีขึ้น และคงเหนื่อยไปจนถึงปีหน้า การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวเข้ามาก็ยังย้อนแย้งกันอยู่

เพราะมีเงื่อนไขและข้อจำกัดมากมาย ในแต่ละจังหวัดก็มีมาตรการที่ต่างกัน ซึ่งต้องมีวิธีการปฏิบัติร่วมกันเพื่อจะช่วยให้เศรษฐกิจขยับได้

‘ทรีมันนี่’ จี้รัฐหาแหล่งทุนหนุน

นายไชยวัฒน์ อึงสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรีมันนี่ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

สถานการณ์ของพิโกไฟแนนซ์ในตอนนี้ ผู้ประกอบการหลายรายมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สูงมาก นอกจากได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด-19 แล้ว รัฐบาลยังประกาศให้ลดดอกเบี้ยอีก

ถึงจะทำให้ภาพลักษณ์ของพิโกฯดูดีแต่ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มท้อแท้ เพราะเมื่อเงินทุนเริ่มหมดก็ได้แต่ช่วยเหลือตัวเอง โดยที่ไม่มีนโยบายช่วยเหลืออะไรเลยในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา

นอกจากนี้ยังจับทางรัฐบาลไม่ถูก ผู้ประกอบการวิเคราะห์เศรษฐกิจล่วงหน้าไม่ได้ เพราะรัฐบาลแก้ปัญหาเฉพาะหน้าวันต่อวัน

ในไตรมาสสุดท้าย 2-3 เดือนนี้ ผู้ประกอบการรายเล็กจะต้องใช้วิธีการเก็บเงินเก่าที่ปล่อยกู้ออกไปเพื่อมาปล่อยกู้เพิ่มให้รายใหม่ แต่จะเพิ่มได้น้อย เพราะตัวเลข NPL สูงขึ้น การพิจารณาสินเชื่อจะยากมากขึ้น หนี้ครัวเรือนน่าจะเพิ่มขึ้นด้วย

เพราะคนที่มีหนี้ ธ.ก.ส.ถึงกำหนดต้องจ่าย มีหนี้เงินล้านหมู่บ้านอีก รวมถึงหนี้สหกรณ์ ลูกค้าหลายรายต้องหาเงินไปใช้หนี้และกู้กลับคืนมาเป็นวิถีเดิม ๆหากลูกค้าไม่สามารถเข้าถึงพิโกฯได้หรือไม่อยากมีความยุ่งยาก

จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้หันไปพึ่งการกู้หนี้นอกระบบที่กู้ง่ายมากขึ้น และเงินกู้นอกระบบจะหนักขึ้นกว่าเดิม

ขณะเดียวกันมีผู้ประกอบการที่ควบคุม NPL ได้อยู่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งมาตรการควบคุมโควิด-19 กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และขีดความสามารถของลูกค้าในแต่ละอาชีพ

สำหรับ “ทรีมันนี่” ปัจจุบันมีอยู่ 8 สาขา ล่าสุดได้เพิ่มสาขาที่ 9 อยู่ใน ต.บ่อวิน ชลบุรี มีแนวคิดคือ เร่งพัฒนาการแก้ไขหนี้นอกระบบเพื่อให้ประชาชนสามารถลดอัตราดอกเบี้ยที่สูงให้ต่ำลง

เพื่อให้มีเงินไปช่วยเหลือใช้จ่ายในครอบครัว ตัวเลขที่ปล่อยกู้ไปแล้วในปัจจุบันประมาณ 543 ล้านบาท ส่วนหนี้ NPL มีประมาณ 11-12% หรือประมาณ 56 ล้านบาท

โดยลูกค้าส่วนนี้ได้ขอพักชำระหนี้หรือขอผ่อนผันไปก่อน และมีอีกส่วนที่หายไปและไม่สามารถติดต่อได้เลย ปัจจุบันยังมีลูกค้าที่ต้องการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์อยู่เป็นจำนวนมาก

แต่ด้วยสถานการณ์ลูกค้าที่จะเข้ามากู้เงินต้องจองคิวล่วงหน้ากว่า 1 สัปดาห์ อาจจะมีความยุ่งยากอยู่บ้าง

“ลูกค้าทรีมันนี่ยังคงเป็นลูกค้ากลุ่มโรงงาน และในภาคตะวันออกพนักงานเริ่มกลับมาทำงานปกติเกือบ 100% แล้ว เพราะแต่ละโรงงานกำลังเร่งผลิตสินค้าเพื่อส่งออกและขายในประเทศ

ให้ทันกับการจับจ่ายใช้สอยของผู้คนในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงใน 2 เดือนนี้ โดยทรีมันนี่ได้พยายามลดความยุ่งยากและสร้างความเข้าใจกับลูกค้าโดยใช้ศัพท์ที่เข้าใจง่ายมากขึ้น


ลูกค้าใหม่จะถูกบังคับให้ส่งเงินต้นเดือนละ 500 บาท ทำให้เงินต้นและดอกเบี้ยลดน้อยลงเร็ว และหากเดือดร้อนก็กลับมากู้ใหม่ได้อีก”