ประยุทธ์ เทหมดหน้าตัก 2.45 แสนล้าน คลอดมาตรการ สู้พิษโควิดระลอกสาม

ประยุทธ์ เทหมดหน้าตัก ถมพิษโควิดระลอกสาม 9 มาตรการ 2.45 แสนล้านบาท หมุนเศรษฐกิจ 4.73 แสนล้าน

พล.อ.ประยุทธ์ เทงบเงินกู้หมดหน้าตัก 245,500 ล้านบาท คลอด 9 มาตรการ เพื่อเยียวยา-กระตุ้นเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 ระลอกสาม คาด หมุนเงินเข้าระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำว่า 473,000 ล้านบาท จ่อกู้เพิ่ม ถ้าเจอระลอกที่ 4

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการเยียวยาโควิด-19 ระลอกที่สาม-กระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี 2564 จำนวน 3 ระยะ 9 มาตรการ ทุบกระปุกงบเงินกู้ 2.45 แสนล้าน ดังนี้

มาตรการระยะแรก : ทำทันที จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1.มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน จำนวน 2 โครงการ 1.ลดค่าไฟฟ้า และ 2.ลดค่าน้ำประปา เป็นระยะเวลา 2 เดือน (พฤษภาคมถึงมิถุนายน 2564) กรอบวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท

2.มาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 เป็นสินเชื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราว กลุ่มเป้าหมาย ผู้มีรายได้ประจำ เช่น พนักงาน/ลูกจ้าง หน่วยงานเอกชนที่มีเงินเดือนประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า หาบแร่แผงลอย และเกษตรกรรายย่อยหรือลูกจ้างภาคการเกษตรที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน ผ่านธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท (แห่งละ 10,000 ล้านบาท) คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี (ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก) ระยะเวลาดำเนินงานถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 รัฐบาลชดเชยหนี้ NPLs 100 % สำหรับ NPLs ที่ไม่เกิน 50 % ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด 20,000 ล้านบาท หรือรวมไม่เกิน 10,000 ล้านบาท

3.มาตรการพักหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFls) เป็นการขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ให้แก่ลูกค้ารายย่อยออกไปจนถึง 31 ธันวาคม 2564

มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในระยะเร่งด่วน-เดือนมิถุนายน 2564 ต่อเนื่องด้านการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 85,500 ล้านบาท

1.โครงการ “เราชนะ” จำนวนกลุ่มเป้าหมายประมาณ 32.9 ล้านคน โดยเป็นการขยายวงเงินช่วยเหลือให้ประชาชนอีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยระยะเวลาการใช้จ่ายสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 กรอบวงเงิน 67,000 ล้านบาท

2.โครงการ “ม.33เรารักกัน” จำนวนกลุ่มเป้าหมาย 9.27 ล้านคน โดยเป็นการขยายเพิ่มวงเงินช่วยเหลือผู้ประกันตน มาตรา 33 อีกสัปดาห์ละ 1000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยมีระยะเวลาการใช้จ่ายสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 กรอบวงเงิน 18,500 ล้านบาท
มาตรการระยะที่ 2 : ในช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2564 จำนวน 4 โครงการ กรอบวงเงินประมาณ 140,000 ล้านบาท

1.โครงการ “เพิ่มกำลังซื้อ” ให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 จำนวน 13.65 ล้านคน โดยให้ความช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน (กรกฎาคม – ธันวาคม 2564) หรือ 1,200 บาท หากคิดเป็นกรอบวงเงินงบประมาณ 16,380 ล้านบาท

2.โครงการ “เพิ่มกำลังซื้อ” ให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษจำนวนเป้าหมาย 2.5 ล้านคน เพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน (กรกฎาคม – ธันวาคม 2564) หรือ 1,200 บาท หากคิดเป็นกรอบวงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท

3.โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือ ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน คาดว่าจะมีประชาชนร่วมโครงการจำนวน 31 ล้านคน ระยะเวลากรกฎาคม-ธันวาคม 2564 หากคิดเป็นกรอบวงเงินประมาณ 93,000 ล้านบาท

4.โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” โดยรัฐสนับสนับ e-Voucher ให้กับประชาชนที่ใช้จ่ายซื้อสินค้า อาหารและเครื่องดื่ม ค่าบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน ในช่วงกรกฎาคมถึงกันยายน 2564 และนำ e-Voucher ไปใช้จ่ายในเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม 2564 คาดว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมโครงการประมาณ 31 ล้านคน (คาดว่าจะต้องเลือกมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ระหว่างคนละครึ่งเฟสสาม หรือ ยิ่งใช้ยิ่งได้)

พล.อ.ประยุทธ์ คาดว่าถ้าเราร่วมมือกันเพื่อจำกัดการระบาดอย่างเต็มที่ สถานการณ์การระบาดน่าจะคลี่คลายลงจนอยู่ในระดับที่สามารถดำเนินมาตรการในระยะที่ 2 ได้ โดยมาตรการในระยะที่ 2 ประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก กรอบวงเงินประมาณ 140,000 ล้านบาท


“โดยมาตรการในระยะที่ 2 ทั้งสี่โครงการข้างต้นจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายกว่า 51 ล้านคน และคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 473,000 ล้านบาท”พล.อ.ประยุทธ์กล่าว