สุพัฒนพงษ์ลั่นปี’65 จีดีพี 6% ชง ครม. เคาะแพ็กเกจอีวีเดือนหน้า

“สุพัฒนพงษ์” ปาฐกถาพิเศษ “BOOST UP THAILAND 2022” บูสต์เศรษฐกิจไทยปี’65 จีดีพี 5-6% คาดคำขอลงทุนสิ้นปี’64 แตะ 6 แสนล้านบาท เล็งชง ครม.เคาะแพ็กเกจอีวีเดือน ธ.ค.

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ที่อาคารสำนักงาน บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวเปิดงานเสวนาและปาฐกถาพิเศษ “Boost Up ทุบโจทย์ใหม่เศรษฐกิจไทย” ในงานสัมมนา “BOOST UP THAILAND 2022” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ว่า ถือเป็นโจทย์ใหม่ของเศรษฐกิจไทย เราผ่านจุดที่ต่ำสุดไปแล้ว 4 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เพื่อไปสู่การ Boost Up ประเทศไทย

“4 เดือนผ่านมาเร็วเหลือเกิน แต่รัฐบาลเหมือนกับนานมาก เพราะทุ่มเททรัพยากร ต้องแข่งกับเวลา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 และรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ตลอดจนประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด อย่างไรก็ดีสถานะการเงินการคลังดีไม่น้อยกว่าประเทศอื่น เสถียรภาพคงที่ มองไปในอนาคตเสถียรภาพก็ยังเหมือนเดิม เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อเดินหน้าประเทศไทยต่อไปได้”

ชง ครม.ไฟเขียว แพ็กเกจอีวี

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ถึงแม้ว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2564 อาจจะไม่ได้สูงตามที่ตนได้กล่าวไว้เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา คือจีดีพี 4% วันนี้เอากันใหม่ เรามีบทเรียน สภาพแวดล้อมของประเทศไทยยังเข้มแข็ง เริ่มกันอีกครั้ง แต่เริ่มด้วยความมั่นใจ เริ่มด้วยการเรียนรู้ และประชาชนต้องรักษาวินัยมาตรการสาธารณสุข แล้วเราจะเดินหน้าไปอีกครั้ง

6-7 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้หยุดนิ่ง ได้สร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 4D ได้แก่

Decarbonization Digitalization Derisk และ Decentralization คู่ขนานไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นที่ต่าง ๆ เรื่อง 5G และเรื่องดิจิทัล ที่สำคัญที่สุดช่วงแพร่ระบาดและเยียวยา คือ ประเทศไทยได้ทดลองครั้งสำคัญ โดยการจ่ายเงินเยียวยาประชาชน ผ่านระบบแพลตฟอร์มดิจิทัล 50 ล้านคนได้รับเงินเยียวยา

เป็นการทดสอบระบบเพื่อให้ใช้ได้อย่างต่อเนื่อง คือ ความมั่นคง และความพร้อมของประเทศไทย จนเป็นที่เล็งเห็นของผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายที่ต้องการเห็นประเทศไทยเป็นฮับดิจิทัล มีผู้แสดงความจำนงเข้ามาลงทุนในระดับไฮเปอร์สเกล ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือเรื่องภาษีและกฎกติกา ซึ่งจะทำให้เห็นการลงทุนขนาดใหญ่ เป็นฐานสำคัญในการพัฒนาให้ธุรกิจดิจิทัลไปได้รวดเร็วมากขึ้น

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวปาฐกในการประชุมระดับผู้นำในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC : COP) ครั้งที่ 26 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร แสดงจุดยืนของประเทศไทยในการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2608 (ค.ศ. 2065) หรือ 40 ปีหลังจากนี้ ระหว่างทางคือการปล่อยคาร์บอนสูงสุดไม่เกินปี 2030 หรือ 9 ปีต่อจากนี้

“สอดคล้องกันไปเพื่อให้กระบวนการพลังงานสะอาดสอดคล้องกันไปเพื่อไปสู่เป้าหมายยังมีเรื่องของยานยนต์ประจุไฟฟ้า ซึ่งภายในเดือนธันวาคมนี้ นโยบายเรื่องการส่งเสริมยานยนต์ประจุไฟฟ้าจะได้ข้อสรุปและนำไปสู่การเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าประเทศไทยยังเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ไม่ว่าประเภทใดก็ตาม”

 

สิ้นปี’64 คำขอลงทุนแตะ 6 แสนล้าน

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า การย้ายฐานอุตสาหกรรมใหม่ และอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่เข้มแข็งได้ปรากฏให้เห็นชัด เพราะปีที่แล้วตัวชี้วัดที่สำคัญของการฟื้นฟู คือ Decentralization โครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลทำมาต่อเนื่อง 6-7 ปีที่ผ่านมาจะเห็นในกลางปีนี้ ซึ่งเดือน ก.ย. ตัวเลขคำขอส่งเสริมการลงทุนของปี 2564 สูงถึง 5.2 แสนล้านบาท เทียบกับเดือน ก.ย. ปี 2564 ตัวเลขคำขอส่งเสริมการลงทุน 2.1 แสนล้านบาท หรือขึ้นมากว่า 2 เท่า และคาดว่าสิ้นปี 2564 จะแตะ 6 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งเกิดจากแรงดึงดูดของ Decentralization และกระแสโลกที่ต้องมีการปรับและย้ายฐานการผลิตสำคัญ

“ในปีหน้านิคมไบโอคอมเพล็กซ์ที่จังหวัดนครสวรรค์ได้เริ่มแล้ว การตัดสินใจลงทุนในไบโอพลาสติกในประเทศไทย ในอีก 3 ปี ประเทศไทยจะเป็นฐานการลงทุนไบโอพลาสติกที่ใหญ่ที่สุดในโลก พลังที่จะดึงดูดในปีหน้าและปีถัดไป เช่น พลังงานสะอาด ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ได้ตกลงกันแล้วที่กลาสโกว์ว่าในปี 2050 หรือ 2030 จะปรับเปลี่ยนให้ก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ให้ได้ ซึ่งการย้ายฐานจะสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยการลงทุน เพราะคาร์บอนฟุตพริ้นต์สูง ภาษีสูงตามไปด้วย”

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า รัฐบาลทำได้เพียงวางโครงสร้างระบบนิเวศวันนี้ 4 กระแสโลก หรือ 4D รัฐบาลได้เตรียมการไว้พอสมควร ไม่ด้อยไปกว่าประเทศใดในโลก ประชาชนจะค่อย ๆ ทยอยเห็น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสำคัญ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน เราไม่เคยเห็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อต้องการจะพลิกโฉม เช่น รถไฟรางคู่ วันนี้ 1,000 กิโลเมตร ปลายปีนี้รถไฟจีนจะมาถึงเชื่อมต่อกับประเทศไทย การเชื่อมต่อกับภูมิภาคกับทะเลอ่าวไทยจะเกิดขึ้น สินค้าของเราจะไปตอนกลางของประเทศจีนได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทางตะวันตก-ตะวันออก เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เมียนมาประสบปัญหาการเมืองภายใน มิเช่นนั้น ถนนจาก กทม. วิ่งไปกาญจนบุรี 1 ชั่วโมง กำลังดำเนินการก่อสร้างงบประมาณจากกาญจนบุรีเข้าไปทวายได้เตรียมงบประมาณไว้สนับสนุน โดยร่วมมือกับรัฐบาลเมียนมา เพื่อเข้าสู่ทะเลอันดามัน และสามารถเชื่อมโยงกับกัมพูชา การขนส่งทางน้ำกับจีนทางเชียงราย-เชียงของ ถนนเสร็จแล้ว รอการเปิดประเทศและให้โควิดคลี่คลาย อุตสาหกรรมเกษตรในภูมิภาคที่จะทำกับจีนได้มากขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมอื่น

ปี’65 จีดีพี 5-6%

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า โดยสรุป รัฐบาลพยายามเต็มที่ แม้กระทั่งช่วงเวลายากลำบาก ต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิดตั้งแต่ ก.ค. คู่ขนานกันไปกับปฏิบัติการเชิงรุก เพื่อพยายามสร้างระบบนิเวศใหม่ให้พร้อมที่สะท้อนกับกระแสโลก ที่เสริมสร้างและเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญเพื่อพลิกโฉมโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับไทย และจะทยอยเกิดขึ้นและเราจะเห็นในอีกไม่กี่ปีหลังจากนี้

“ขอเพียงให้ทุกคนเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะนักลงทุนจากต่างประเทศและในประเทศ เราจะไม่หยุดเดินหน้า ชักจูง ดึงดูด หากมีโอกาสเราจะเดินหน้าดึงดูด ชักจูงนักลงทุนต่างประเทศให้มา ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เราสร้างขึ้นมาใหม่ ในบริบทใหม่ที่สอดคล้องกับกระแสสังคมโลก ไม่ทิ้งและยังฝากผู้ประกอบการไทยให้เชื่อมั่นและลงทุน เพื่อต่อยอดในสิ่งที่ทำอยู่

นอกจากนี้ยังมีชาวต่างประเทศที่พร้อมจะเข้ามาพำนักอาศัยในประเทศไทยระยะยาว ไม่เพียงแต่มาท่องเที่ยว แต่มาสร้าง มาร่วมพัฒนาประเทศไทยไปด้วยกัน”

นายสุพัฒนพงษ์ทิ้งท้ายว่า ทุกอย่างจะพลิกโฉมประเทศไทย จะ Boots Thailand ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะรัฐบาลแต่ฝ่ายเดียว แต่เกิดขึ้นด้วยทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน เชื่อว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น จีดีพี 5-6% ถ้าไม่เกิดการระบาดระลอกใหม่ มีโอกาส ที่สำคัญทุกคนต้องร่วมมือกัน เป็นเวลาสำคัญ รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ รักษาเสถียรภาพความมั่นคง เราจะเข้มแข็งมากกว่าเดิม ภายใต้บริบทให้ เราพร้อมแล้ว