Test & Go 1 ก.พ.ฝุ่นตลบ “แอปฯไม่พร้อม”โยนงานวุ่น

เดิมพันครั้งใหม่เปิดประเทศ Test & Go 1 ก.พ. อลหม่าน แอปฯติดตามตัว “หมอชนะ” ยังเป็นปัญหา ปรับระบบ Thailand Pass โยนภาระให้โรงแรม วงในลุ้นวันดีเดย์ระบบเปิดประเทศถูกชัตดาวน์ ชี้สหภาพยุโรปเข้มกฎหมาย GDPR สิทธิส่วนบุคคล Apple-Google Play แจ้งผู้พัฒนาแอปฯติดตามตัวโควิด-19 แจงละเอียดยิบ ด้าน ททท. เดินหน้าสร้างความเข้าใจผู้ประกอบการ หวังพลิกฟื้นอุตฯท่องเที่ยวตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ต่ำกว่า 2 แสนคนต่อเดือน

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเปิดประเทศครั้งใหม่ในรูปแบบ Test & Go ที่จะเปิดลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ตามมติที่ประชุม ศบค.เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมานั้น นับเป็นความท้าทายของสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และเป็นเดิมพันครั้งใหม่ของนโยบายเปิดประเทศของไทย เนื่องจากเป็นการเปิดโดยไม่กำหนดประเทศต้นทาง และสามารถเดินทางเข้ามาได้ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ (เดินทางจากสนามบินไม่เกิน 5 ชั่วโมง)

เดิมพันใหม่เปิดประเทศ

โดยกำหนดมาตรการใหม่เพิ่มเติมบางส่วน ประกอบด้วย ปรับการตรวจหาเชื้อโดยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง มีหลักฐานการจองโรงแรมที่พักในวันแรก และในวันที่ 5 โดยต้องเป็นโรงแรมที่มีโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการ (SHA++ AQ QQ หรือ AHQ) มีหลักฐานการชำระเงินการตรวจหาเชื้อจำนวน 2 ครั้ง กำหนดระบบประกันให้ชัดเจน กรณีประกันไม่ครอบคลุมผู้เดินทางจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล/ฮอสพิเทล หรือ Hotel Isolation และกรณี HRC เอง

ทั้งนี้ หากเกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น หรือสถานการณ์เปลี่ยนแปลงจะพิจารณาการรับผู้เดินทางและปรับมาใช้ระบบพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว หรือ Sandbox แทน

“ที่บอกว่าการเปิดประเทศในรูปแบบ Test & Go ใหม่ครั้งนี้เป็นความท้าทายอย่างยิ่งนั้น เนื่องจากเราเปิดกว้างให้เข้าได้ทุกพื้นที่ จากเดิมเมื่อ 1 พฤศจิกายนนั้นเรากำหนดจำนวนประเทศต้นทางจาก 63 ประเทศ และกำหนดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ประมาณ 10 พื้นที่นำร่องเท่านั้น หากระบบเปิดประเทศไม่สามารถคัดกรองนักท่องเที่ยวมีปัญหา และไม่สามารถติดตามตัวได้ จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดอีกครั้ง สถานการณ์จะยิ่งหนักกว่าเดิม” แหล่งข่าวกล่าว

Test & Go (ยัง) อลหม่าน

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า การกลับมาเปิด Test & Go ใหม่อีกครั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ประเด็นสำคัญและถือเป็นหัวใจหลักคือระบบการเปิดประเทศของไทยต้องมีความพร้อม ทุกแอปพลิชั่นต้องทำงานแบบบูรณาการ เชื่อมโยงและส่งต่อข้อมูลระหว่างกันได้ ที่สำคัญนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้เน้นย้ำมาโดยตลอดว่าต้องติดตามตัวนักท่องเที่ยวให้ได้ 100% และมีรายงานข้อมูลนักท่องเที่ยว (dashboard) เพื่อให้สามารถควบคุม ดูแล นักท่องเที่ยวต่างชาติได้ทั้งหมด

“ตอนนี้เหลือเวลาเพียงแค่ไม่กี่วัน แอปพลิเคชั่นที่เป็นแอปพลิชั่นหลักของการเปิดประเทศ โดยเฉพาะหมอชนะ ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นติดตามตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่ได้รับการแก้ไข และยังไม่เชื่อมต่อกับระบบของ Thailand Pass และระบบการจองโรงแรม coste ที่สำคัญยังไม่สามารถดาวน์โหลดเพื่อติดตั้งแอปพลิเคชั่นได้” แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้ ล่าสุดสํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. ผู้พัฒนาเว็บ Thailand Pass ซึ่งเป็นช่องทางสำหรับการลงทะเบียนเข้าประเทศของผู้ที่ประสงค์เดินทางเข้าประเทศไทยยังได้ทำการปรับปรุงและพัฒนาใหม่ที่ดีขึ้น โดยผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ไม่เกิน 2 เดือน หรือ 60 วัน และตรวจสอบเอกสารโดย AI และมีระบบ public key หรือการตรวจสอบและเข้าถึงข้อมูล ที่สามารถตรวจสอบได้ในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก

โยนภาระติดตามตัวให้โรงแรม

นางณพิชญา เทพรอด ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. ผู้พัฒนา Thailand Pass เปิดเผยว่า ระบบลงทะเบียนออนไลน์เข้าประเทศไทยพร้อมเปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ tp.consular.go.th อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09.00 น. (ประเทศไทย) เป็นต้นไป

โดยระบบใหม่ของ Thailand Pass จะมีระบบที่เรียกว่า Thailand Pass Hotel ซึ่งเป็นของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เชื่อมต่อกับโรงแรมเพื่อส่งข้อมูลนักท่องเที่ยวที่กรอกผ่านระบบเข้ามาให้โรงแรมช่วยตรวจสอบเอกสารการจองที่พัก การจอง RT-PCR วันที่ 1 และวันที่ 5 ซึ่งจะส่งให้โรงแรมตรวจสอบทุกวันในช่วง 18.00 น. และส่งกลับคืนภายในเวลา 24.00 น.ของวันรุ่งขึ้น (รวม 30 ชั่วโมง)

จากนั้นระบบจะตรวจสอบเอกสารวัคซีน ซึ่งปัจจุบันระบบสามารถตรวจสอบใบรับรองการฉีดวัคซีนได้ 35 ประเทศ ส่วนกรณีที่ระบบไม่สามารถอ่านได้จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมโรค (คร.) ที่ต้องตรวจสอบต่อไป หากผ่านการตรวจสอบทั้งหมดแล้วระบบจะทำการอนุมัติ QR Code ซึ่งในกระบวนการใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัด webinar ชี้แจงมติการเปิดประเทศ และแนวปฏิบัติของ SHA Extra Plus ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม เมื่อ 24 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา พบว่าในที่ประชุมผู้ประกอบการโรงแรมจำนวนมากแสดงความไม่พอใจกับแนวปฏิบัติใหม่ของระบบ Thailand Pass เนื่องจากมองว่าเป็นการโยนภาระติดตามตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กับโรงแรม จากเดิมที่เป็นหน้าที่ของแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ”

หวั่นระบบถูก “ชัตดาวน์”

แหล่งข่าวจากผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นรายหนึ่ง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาสหภาพยุโรป (EU: European Union) ออกกฎหมายใหม่เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ชื่อว่า “General Data Protection Regulation” หรือ GDPR ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบครั้งใหญ่ต่อการจัดเก็บ บันทึก ประมวลผล และส่งต่อต่อมูลของประชากรอียูบนโลกออนไลน์ปัจจุบันที่ต้องขออนุญาตให้ทำสนธิสัญญาอย่างเป็นทางการเท่านั้น

“ผู้พัฒนาเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นทั้งหมดที่ต้องมีการเก็บ บันทึก และส่งต่อข้อมูลประชากรของสหภาพยุโรปต้องยื่นจดแจ้ง ชี้แจงหลักเกณฑ์และความรับผิดชอบต่อข้อมูลให้ชาวยุโรปทราบด้วย หากไม่ทำการจดแจ้ง กฎหมายตัวนี้กำหนดค่าปรับไว้สูงมาก” แหล่งข่าวกล่าว

และว่า ด้วยค่าปรับที่สูงมากทำให้ผู้ให้บริการแอปพลิชั่นอย่าง Apple และ Google Play ทำจดหมายแจ้งไปยังผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับโควิด-19 ทั้งหมดที่ทำการเก็บ บันทึก ส่งต่อข้อมูล รวมถึงติดตามตัวทำหนังสือชี้แจงรายละเอียดแอปพลิเคชั่น รวมถึงหลักเกณฑ์การพัฒนาอย่างละเอียด โดยในส่วนของ Apple นั้นได้แจ้งผู้ประกอบการไปแล้วเมื่อกลางปี 2564 ที่ผ่านมา ขณะที่ Google Play ได้แจ้งผู้พัฒนาแอปพลิชั่นให้ดำเนินการก่อน 1 กุมภาพันธ์นี้

“ประเด็นสำคัญคือ แอปพลิชั่นสำหรับเปิดประเทศของไทย ทั้ง coste หมอชนะ ที่พัฒนาขึ้นนั้นไม่ได้จดแจ้ง GDPR นั่นหมายความว่าตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไปแอปพลิเคชั่นดังกล่าวอาจถูกปิดและไม่ปรากฏใน Google Play และ Google Chrome ก็เป็นได้” แหล่งข่าวกล่าว

ด้านนายกิตติ พรศิวะกิจ ประธานอนุกรรมการ Smart Tourism สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแอปพลิคชั่น กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงประเด็นปัญหาดังกล่าวว่า ได้สอบถามไปยังผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นหมอชนะแล้ว ทุกฝ่ายรับทราบถึงประเด็นปัญหาของกฎหมาย GDPR ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จทันก่อน 1 กุมภาพันธ์นี้แน่นอน

ททท.เร่งสร้างความเข้าใจ

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้เร่งดำเนินการเพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการทุกกลุ่ม เพื่อให้ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือและช่วยกันผลักดันให้แผนการเปิด Test & Go ครั้งนี้สามารถเดินหน้าต่อได้ และช่วยพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศให้กลับมาอีกครั้ง หลังจากที่ธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

“ตอนนี้รัฐบาลเอา Test & Go กลับมาให้แล้ว การเดินหน้าต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกส่วน และทำให้เป็นทีมเวิร์กเดียวกัน โดยเฉพาะ SHA Plus Manager ซึ่งทำหน้าที่ร่วมตรวจสอบเอกสารบุ๊กกิ้งโรงแรมห้องพักในระบบ Thailand Pass นอกจากนี้ยังจำเป็นมากที่ต้องมีระบบติดตามตัวอย่างมีประสิทธิภาพ และกำจัดปัญหาเดิม ๆ ให้หมดไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหานักท่องเที่ยวหนี ติดตามตัวไม่ได้ รวมถึงการตามให้นักท่องเที่ยวกลับมาทำ PCR ครั้งที่ 2 ในวันที่ 5 ได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เราต้องช่วยกันเพื่อให้รัฐเห็นว่าพวกเราสามารถทำได้” นายยุทธศักดิ์กล่าว

และย้ำว่า ระบบปฏิบัติบางส่วนอาจยุ่งยากสำหรับผู้ใช้งานบ้าง แต่ทุกส่วนด้านท่องเที่ยวต้องอดทนและช่วยกัน มิเช่นนั้นการเปิดประเทศในรูปแบบ Test & Go อาจจะเดินต่อไปไม่ได้

ตั้งเป้านักท่องเที่ยว 2 แสน/เดือน

นายยุทธศักดิ์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ได้พยายามที่จะบูรณาการการทำงานของทุกแอปพลิเคชั่นที่อยู่ในระบบการเปิดประเทศเข้าด้วยกันให้ดีที่สุด ทั้งส่วนของ Thailand Pass, Thailand Pass Hotel, coste และหมอชนะ โดยเฉพาะระบบ Thailand Pass Hotel ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจาก SHA Plus Manager ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการออก QR Code ของระบบ Thailand Pass

“เราพยายามทำให้ดีที่สุด และเชื่อมั่นว่าสุดท้ายแล้ว 1 กุมภาพันธ์นี้ระบบทั้งหมดจะเชื่อมต่อกันได้ ไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหา เพราะเราต้องมีการติดตาม และให้มีผลการตรวจ RT-PCR 2 ครั้งให้ได้” นายยุทธศักดิ์กล่าว

นายยุทธศักดิ์กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับประเด็นที่ถูกมองว่าโยนภาระเรื่องการติดตามตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติให้โรงแรมนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เป็นเพียงการขอความร่วมมือ และเป็นเรื่องที่ทุกโรงแรมต้องทำ เพื่อให้เขารู้ล่วงหน้าว่ามีแขกเข้าเมื่อไหร่ จำนวนเท่าไหร่ หรือกรณีที่แขกทำการยกเลิกห้องพักโรงแรมก็จะรู้ข้อมูลล่วงหน้าเช่นกัน

“เราเชื่อมั่นทุกส่วนจะให้ความร่วมมือในการเปิด Test & Go รอบนี้ และช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้พลิกฟื้นกลับมาได้บ้าง โดย ททท.ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 200,000 คนต่อเดือน” นายยุทธศักดิ์กล่าว