โอมิครอนทุบท่องเที่ยวชะลอ Test & Go ต่างชาติหาย3.8แสนคน

15 ม.ค. 2565 | 02:20 น.

นักท่องเที่ยวไทย-เทศ เฮโลยกเลิก-เลื่อนจองห้องพักแล้ว 25-50% สายการบินเช่าเหมาลำจากต่างประเทศแจ้งขอยกเลิกบินเข้าไทย สายการบินของไทยระงับแผนเปิดจุดบินระหว่างประเทศยกยวง เอ็กซ์เรย์ผลกระทบทัวริสต์รายตลาดชะลอรับTest & Go ต่างชาติเที่ยวไทยลดจากเป้าถึง 3.8 แสนคน

การแพร่ระบาดของ“โอมิครอน” ขณะนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการหยุดชะงักงันของนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น ยังทำให้เกิดการชะลอตัวสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศด้วย ซึ่งตั้งแต่หลังปีใหม่เป็นต้นมาโรงแรมต่างๆ ถูกแจ้งยกเลิก-เลื่อนห้องพักตั้งแต่ 25-50% แล้ว ขณะที่สายการบินต่างชาติต่างทยอยยกเลิกเที่ยวบินเข้าไทย ส่วนสายการบินของไทยก็ระงับแผนการเปิดจุดบินใหม่ในเส้นทางบินระหว่างประเทศทั้งหมด

 

เนื่องจากไม่เพียงรัฐบาลจะสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการจำกัดการเดินทางจากต่างประเทศเข้าไทย ด้วยการระงับการลงทะเบียนเข้าไทยในแบบ Test & Go  ชั่วคราวไม่มีกำหนดเหลือ เหลือช่องทางเข้าไทยได้เฉพาะพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ 4 จังหวัด/พื้นที่ ได้แก่ ภูเก็ต, พังงา, กระบี่, สุราษฏร์ธานี (เฉพาะเกาะสมุย เกาะเต่า เกาะพะงัน) เท่านั้น แต่รัฐบาลยังขอความร่วมมือให้ประชาชนงดการเดินทางข้ามจังหวัด และการขยายเวลา Work From Home ของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจออกไปจนถึงวันที่ 31 ม.ค. 2565 ทำให้การเดินทางข้ามจังหวัดลดลงโดยสนามบินดอนเมือง ปัจจุบันมีผู้โดยสารเฉลี่ยราว 2.5 หมื่นคน ลดจากช่วงปีใหม่ซึ่งอยู่ที่เกือบ 4 หมื่นคน

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่ายอดการจองห้องพักของธุรกิจโรงแรมไทย โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยว ถูกยกเลิกและเลื่อนการเข้าพัก เกือบทุกโรงแรม ซึ่งจะไม่เท่ากันเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 25-50% ซึ่งบุ๊กกิ้งที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่มีเพียงแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป หลังการระงับ Test & Go เท่านั้น แต่ด้วยโอมิครอนก็ทำให้ชาวต่างชาติเปลี่ยน แปลงการเดินทาง เพราะการระบาดของประเทศเขาด้วย

 

รวมถึงการจองของนักท่องเที่ยวไทยด้วยเช่นกัน เนื่องจากรัฐบาลประกาศขอให้งดเดินทางข้ามจังหวัด ส่งผลให้บริษัทต่างๆ สั่งห้ามพนักงานไปต่างจังหวัด เนื่องจากกลัวว่าถ้าไปกลับมาแล้วจะติดโอมิครอนหรือติดโควิด-19 แล้วจะต้องกักตัว ทำให้เสียทรัพยากรบุคคลในการทำงาน

 

“ขณะนี้ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบมาก อัตราการเข้าพักในเดือนม.ค.นี้ประเมินว่าน่าจะอยู่ที่ราว 20% ส่งผลให้ธุรกิจต้องกลับมาลดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการลดชั่วโมงทำงาน ให้สลับกันมาทำงาน หรือให้ลาโดยไม่รับค่าจ้าง และลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพราะเฉลี่ยแล้วโรงแรมจะมีจุดคุ้มทุนจะต้องมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ราว 50% ประกอบกับก่อนหน้านี้บางโรงแรมก็มีการจ้างพนักงานเข้ามาเพิ่ม เพื่อเตรียมจะกลับมาเปิดให้บริการโรงแรมอีกครั้งในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ เมื่อลูกค้าไม่เข้าหรือเข้าน้อยกว่าที่ประเมินไว้ก็ได้รับความเดือนร้อนมาก ส่วนบางแห่งที่มีแผนจะกลับมาเปิดใหม่ก็คงต้องรอดูสถานการณ์ต่อไปอีก”

จากสถานการณ์ในการแพร่ระบาดของโควิดในไทยขณะนี้ คงต้องรอให้แรงกระเพื่อมของการแพร่ระบาดลดลงก่อน  รัฐบาลจึงจะกลับมากระตุ้นการท่องเที่ยวได้ใหม่ ซึ่งสมาคมอยากจะเสนอใน 3 เรื่องได้แก่ 1.การกระตุ้นการเดินทางเที่ยวในประเทศก่อน โดยการเปิดระบบให้จองที่พักในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกันเฟส4” 2.ให้ภาครัฐสนับสนุนการจัดงานประชุมสัมมนา  3.การกลับมารีสตาร์ทการเปิดให้เข้าไทยในระบบTest & Go

 

เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เดินทางเข้าไทยจะเป็นนักท่องเที่ยวแบบ Test & Go ส่วนการเดินทางแบบแซนด์บ็อกซ์ ที่ต้องกักตัวในพื้นที่ 7 วัน นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวภาคใต้คงไม่ได้มีผลอะไร เพราะตลาดระยะไกลที่มีแผนหนีหนาวมาเที่ยวก็ยังคงเดินทางอยู่จนเดือนมี.ค.นี้ แต่หลังจากนั้นก็จะเป็นช่วงโลว์ซีซัน ซึ่งก็จำเป็นที่ต้องหาตลาดอื่นเข้ามาทดแทน

 

โอมิครอนทุบท่องเที่ยวชะลอ Test & Go ต่างชาติหาย3.8แสนคน

นางสุวรรณา โดตี้ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง  กล่าวว่า  ผู้ประกอบการมีความวิตกกังวลกับโควิด-19 ระลอกใหม่ เพราะนักท่องเที่ยว เริ่มทยอยยกเลิกการจอง ทั้งชาวไทยที่ไม่มั่นใจในความปลอดภัย และชาวต่างชาติที่ยกเลิกเพราะการระงับมาตรการ Test & Go ผู้ประกอบการต่างๆ ได้รับผลกระทบ ซึ่งในครั้งนี้หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ หรือแก้ไขอย่างเร่งด่วน จะเกิดปัญหาย่ำแย่หนักกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

 

ขณะที่แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการท่องเที่ยว เปิดเผยว่าผลจากการระงับการลงทะเบียนเข้าไทยในแบบ Test & GO ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 64 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวอาจจะลดลงจากเป้าหมาย 70% จากเป้าที่ตั้งไว้ว่าในช่วงเดือนต.ค.64-มี.ค.65 ไทยจะมีนักท่องเที่ยว 560,000 คน อาจเหลือนักท่องเที่ยวมาเพียง 1 แสนคน ในช่วงไตรมาส1ปี2565 หรือลดจากเป้าถึง 3.8 แสนคน

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นในขณะนี้สำหรับตลาดระยะไกล ล่าสุดพบว่ามีการยกเลิกเที่ยวบินเช่าเหมาลำ จากตลาดนอร์ดิก ของ TUI Nordic  ตลาดสหราชอาณาจักร (TUI UK) ไปภูเก็ค และกระบี่ การยกเลิกเที่ยวบินเช่าเหมาลำ ตลาดคาซัคสถาน (Sunday Airlines) ไปยังอู่ตะเภา และตลาดโปแลนด์ โรมาเนีย (SC Karpaten Outgoing SRL) ขณะที่เตอร์กิซ แอร์ไลน์ส จะยกเลิกบินเข้าภูเก็ตจากบินทุกวันเหลือสัปดาห์ละ 2 วัน สายการบินฟินแอร์ ระงับเส้นทางบินสู่จังหวัดกระบี่

 

นอกจากนี้ยังพบว่ายอดบุ๊กกิ้งใหม่จะลดลงทันที 90% โดยบริษัท Go Vacation จากตลาดเยอรมัน แจ้งว่าการปรับมาตรการเข้าไทยส่งผลทันทีให้ยอดการจองใหม่ ลดลงทันที 90% และมีบุ๊กกิ้งยกเลิกวันละ 150 บุ๊กกิ้ง ส่วนบริษัท Panorama ตลาดโปแลนด์ มีลูกค้าไตรมาส 1 ปี 65 เป็นตลาดโปแลนด์ 90% ส่วนมากเดินทางแบบ กรุ๊ปซีรีย์ ยกเลิกการเดินทางไปแล้ว 3 คณะรวม 120 คนหลังปรับมาตรการ ทำให้เดือนม.ค.65 ลูกค้าหายไปราว 30%

 

ส่วนผลกระทบของตลาดระยะใกล้อย่างตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ พบว่าภาพรวมตลาดหลัก เช่น ตลาดญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน เกิดการสะดุดเป็นครั้งที่ 2 จากบุ๊กกิ้งใหม่ที่ชะลอการเดินทางลดลงกว่า 90% เที่ยวบินเช่าเหมาลำของเกาหลี ที่จะเดินการในเดือนม.ค.-มี.ค.65 ถูกยกเลิกทั้งหมด และสายการบินพิจารณาปรับลดเที่ยวบินปกติลงด้วย

 

ในด้านตลาดออสเตรเลีย อินเดีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ มียอดจองลดลงกว่า 30-40% และมีการชะลอการเดินทาง โดยสิงคโปร์ยกเลิกการจอง VLT ชั่วคราวถึงวันที่ 20 ม.ค.65 ตลาดอินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ที่มีเที่ยวบินตรงเข้ากรุงเทพฯ นักท่องเที่ยวเลือกตัดสินใจเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางอื่นแทน แผนการเพิ่มเที่ยวบินสำหรับตลาดออสเตรเลียของสายการบินเจ็ทสตาร์ และแควนตัส ในเดือนม.ค.นี้ยังไม่มีความคืบหน้า สายการบินมาลินโดแอร์ ของอินโดนีเซีย แจ้งหยุดบินเข้าสนามบินดอนเมืองตลอดเดือนม.ค.นี้

 

อีกทั้งการจัดกิจกรรมต่างๆที่กระตุ้นการท่องเที่ยวตามแผนที่วางไว้ของไทยก็ต้องเลื่อนออกไปก่อน ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรม Visit Thailand Year Golf Tournament อาจเลยช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเสนอขายไปแล้ว รวมถึงกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ซื้อค่อนข้างมาก กิจกรรมเมกะแฟมทริป การจัดกิจกรรมส่งเสริมตลาดร่วมกับพันธมิตรในพื้นที่ที่จะกระทบไปถึงก.พ.65 ต้องเลื่อนออกไป เพื่อรอดูสถานการณ์

 

นอกจากนี้ยังพบว่าสายการบินต่างๆ ของไทยก็ระงับแผนการเตรียมเปิดบินเส้นทางบินระหว่างประเทศในช่วงไตรมาส 1 นี้ ออกไปก่อน ไม่ว่าจะเป็นสายการบินไทยสมายล์ ที่จะชะลอการเปิดบินเส้นทางระหว่างประเทศ 5 เส้นทาง ออกไปอย่างไม่มีกำหนด คือ กรุงเทพฯ-กาฐมัณฑุ (อินเดีย), กรุงเทพฯ-สิงคโปร์ กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง (เมียนมา) กรุงเทพฯ-ปีนัง และ กรุงเทพฯ-กัวลาลัมเปอร์ (มาเลเซีย) เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาด รวมทั้งบางประเทศยังไม่อนุญาตให้ไทยบินเข้า  สายการบินไทยเวียตเจ็ท เลื่อนแผนการเปิดบินในเส้นทางบินกรุงเทพฯ-สิงคโปร์ และกรุงเทพฯ-ไทเป ออกไปเป็นช่วงมี.ค.นี้เพื่อรอดูสถานการณ์ก่อนเช่นเดียวกับไทยไลอ้อนแอร์ ที่มีแผนจะเปิดบินกรุงเทพฯ-สิงคโปร์ ก็ยังไม่สามารถเปิดบินได้เช่นกัน