ส่องผลประโยชน์ RCEP โอกาสการค้าไทยในตลาดโลก

17 ก.พ. 2564 | 09:03 น.

พาณิชย์ เผย ประโยชน์ความตกลง RCEP ความตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในโลก สินค้าไทยมากกว่า 90% จะไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศสมาชิก เพิ่มโอกาสส่งออกไปตลาดสำคัญอย่าง จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นได้อีกมาก ภาค SMEs และภาคเกษตรได้รับอนิสงฆ์ด้วย คาดมีผลใช้บังคับภายในปี 2564

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงประโยชน์ของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ว่าความตกลง RCEP จะช่วยขยายโอกาสและสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทยจากการที่ 90-92% ของสินค้าส่งออกไทยจะไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้าจากตลาด RCEP โดยเฉพาะจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ได้เปิดตลาดเพิ่มเติมให้กับสินค้าไทยใน RCEP เช่น สินค้าประมง แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด น้ำมะพร้าว น้ำส้ม อาหารแปรรูป ผักผลไม้แปรรูป ส่วนประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เส้นใย เครื่องแต่งกาย และกระดาษ เป็นต้น อีกทั้งยังเพิ่มทางเลือกในการใช้วัตถุดิบจาก15 ประเทศ RCEP มาผลิตและส่งออกไปตลาด RCEP โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และการใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและความยุ่งยากในการบริหารจัดการ

ส่องผลประโยชน์ RCEP  โอกาสการค้าไทยในตลาดโลก

 

นอกจากนี้  RCEP ยังช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างสมาชิก เนื่องจากมีกฎระเบียบมาตรการทางการค้า และพิธีการทางศุลกากรที่สอดคล้องกัน รวมทั้งลดความยุ่งยากและซับซ้อน เช่นการกำหนดเวลาตรวจปล่อยสินค้า ณ ด่านศุลกากร สำหรับสินค้าเร่งด่วนและเน่าเสียง่ายต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าทั่วไป ภายใน 48 ชั่วโมง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสร้างโอกาสในการขยายตลาดการค้าบริการและการลงทุนโดยเฉพาะธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ก่อสร้าง บริการด้านสุขภาพ ภาพยนตร์และบันเทิง แอนิเมชั่น ตัดต่อภาพและเสียง และการค้าปลีก เป็นต้น รวมทั้งดึงดูดการลงทุนในสาขาที่ไทยมีความต้องการและเป็นเทคโนโลยีใหม่ อีกทั้งยังกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องมีกฎหมายเพื่อส่งเสริมการค้าไร้กระดาษ คุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ รวมถึงคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ ซึ่งจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ RCEP ยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพของ SME ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือในการเข้าถึงข้อมูลกฎระเบียบทางการค้า การมีส่วนร่วมของ SME ในห่วงโซ่การผลิตโลกและการค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ หลังจากที่รัฐสภาเห็นชอบให้ไทยให้สัตยาบันความตกลง RCEP แล้ว หน่วยงานที่จะต้องปรับแนวปฏิบัติให้เสร็จก่อนที่ไทยจะยื่นหนังสือสัตยาบันต่อเลขาธิการอาเซียน ได้แก่ กรมศุลกากร ปรับพิกัดอัตราศุลกากรจาก HS 2012 เป็น HS 2017 ตามหลักเกณฑ์ขององค์การศุลกากรโลก (World Customs Organizations: WCO) รวมทั้งออกประกาศกระทรวงการคลังเพื่อยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรภายใต้ความตกลง RCEP และกำหนดหลักเกณฑ์และ  พิธีการศุลกากรให้สอดคล้องกับความตกลง กรมการค้าต่างประเทศออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin: CO) และปรับระบบการให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และแบบพิมพ์หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าให้สอดคล้องกับที่สมาชิก RCEP กำหนด และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ออกประกาศกระทรวงเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีเรื่องเงื่อนไขการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ (OriginalEquipment Manufacturing:OEM) ซึ่งคาดว่าความตกลง RCEP จะมีผลใช้บังคับภายในปี 2564 และเมื่อสมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 6 ประเทศ และสมาชิกนอกอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันความตกลงแล้ว อีก 60 วันหลังจากนั้น

 

สำหรับในระยะยาวที่จะต้องดำเนินการให้เสร็จใน 3-5 ปี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย และเป็นสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินการอยู่ เพราะตระหนักถึงความสำคัญของการยกระดับการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์  ให้ทันสมัย และสอดคล้องกับรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล คือ การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญา ว่าด้วยลิขสิทธิ์ (WCT) และสนธิสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของนักแสดง และผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ปรากฏอยู่ในแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียนเช่นกัน

 

“RCEP ถือเป็นความตกลงที่ทุกภาคส่วนของไทยจะได้รับประโยชน์โดยเฉพาะผู้ประกอบการ เกษตรกร SME แรงงาน และผู้บริโภค สำหรับผู้ประกอบการ SME และเกษตรกร ที่ต้องการแสวงหาตลาดใหม่ ขอให้เตรียมความพร้อมใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP โดยสามารถสืบค้นข้อมูลสรุปสาระสำคัญของความตกลงและรายละเอียดอัตราภาษีศุลกากรที่ประเทศสมาชิก RCEP จะเก็บกับสินค้าส่งออกของไทย ได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.dtn.go.th” นางอรมนเสริม

 

สำหรับความตกลง RCEP เป็น FTA ฉบับที่ 14 ของไทย และจะเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากประกอบด้วย สมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมกว่า 2,200 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรโลก และมีมูลค่าการค้ารวม 326 ล้านล้านบาท หรือ 1 ใน 3 ของการค้าโลก ในปี 2563 การค้ารวมระหว่างไทยกับสมาชิก RCEP มีมูลค่า 2.52 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7.87 ล้านล้านบาท (57.5% ของการค้ารวมของไทย) โดยไทยส่งออกไป RCEP มูลค่า 1.23 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.83 ล้านล้านบาท (53.3% ของการส่งออกไทย) สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น