ครม.อนุมัติ ลดจ่ายเงินสมทบประกันสังคม นาน 3 เดือน 

22 ธ.ค. 2563 | 10:50 น.

ครม.อนุมัติลดจ่ายเงินสมทบประกันสังคม จาก 5% เหลือ 3% นาน 3 เดือน บรรเทาความเดือดร้อนจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

วันที่ 22 ธ.ค. 63 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ 

 

ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ 

 

โดยร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม  มีสาระสำคัญดังนี้

 

1.ลดอัตราเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 จากเดิม 5% ลดเหลือ 3% สำหรับฝ่ายรัฐบาลส่งเงินสมทบอัตราเดิม คือ 2.75% ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 ให้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม จากเดิมเดือนละ 432 บาท เหลือเดือนละ 278 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 

 

2.ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 ให้รัฐบาล นายจ้างและผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตร ฝ่ายละ 1.05% 

 

-การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละ 1.85% และรัฐบาลปรับเป็น 1.45% 

 

-การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละ 0.1% และรัฐบาลปรับเป็น 0.25 % 

3.ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นไป ให้รัฐบาล นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตร ฝ่ายละ 1.5% 

 

- การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนฝ่ายละ 3% และรัฐบาล  1% 

 

- การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละ 0.5% และรัฐบาล 0.25%  

 

นางสาวรัชดากล่าวเพิ่มเติมว่า การลดอัตราเงินสมทบจะส่งผลดีต่อผู้ประกันตนและนายจ้าง โดยช่วยให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินไปใช้จ่ายเสริมสถาพคล่อง ประมาณคนละ 460 - 900 บาท เป็นเวลา 3 เดือน คิดเป็นมูลค่ารวม 8,248 ล้านบาท สำหรับนายจ้าง จะทำให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบลดลง รวม 7,412 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและช่วยรักษาการจ้างงานต่อไปได้