ฉีดวัคซีนช้า ภาคผลิตล่ม แรงงานแห่กลับบ้าน 2.5 ล้านคน กำลังผลิตวูบหนัก

21 ส.ค. 2564 | 23:17 น.

ภาคผลิตส่งออกระส่ำหนัก 6 อุตสาหกรรมใหญ่ สำลักพิษโควิด ลามซัพพลายเชนนับวันยิ่งสะดุด วิกฤติขาดแคลนแรงงานกระหน่ำซ้ำ ชี้ทั้งระบบไม่ต่ำ 2-5 แสนคน จี้รัฐเร่งแก้ สภาอุตฯชงโมเดล Custom Border Sandbox เพิ่มแรงงานต่างด้าวไหลเข้า ผลพวงโควิดแห่กลับภูมิลำเนากว่า 2.5 ล้านคน

 

ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด แม้ ศบค.จะขยายเวลาล็อกดาวน์ 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มออกไปถึง 31 ส.ค. ซึ่งยังต้องลุ้นว่าจะสามารถกดตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลงได้หรือไม่ เพราะการฉีดวัคซีนที่ถือเป็นยาแรงสุดในการดับวิกฤติครั้งนี้ ยังมีปัญหาความล่าช้า ทั้งการจัดหา และการฉีด ทำให้ยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้

 

ยิ่งการระบาดของเชื้อโควิดที่ลามเข้าสู่คลัสเตอร์โรงงาน เฉพาะอย่างยิ่งโรงงานผลิตเพื่อส่งออก ที่ถือเป็นเครื่องยนต์หลัก เครื่องยนต์เดียวในยามนี้ที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยได้ แม้ช่วงครึ่งปีแรกจะยังขยายตัวได้ดี (ขยายตัว 15.53%) แต่การส่งออกช่วงเดือนที่เหลืองห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน)ในการผลิต มีความสุ่มเสี่ยงเครื่องอาจน็อกได้หากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

 

ฉีดวัคซีนช้า ภาคผลิตล่ม แรงงานแห่กลับบ้าน 2.5 ล้านคน กำลังผลิตวูบหนัก

 

  • ชง Border Sandbox ดึงแรงงานต่างด้าว

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตัวเลขการติดเชื้อในโรงงานอย่างไม่เป็นทางการ ณ เวลานี้ มีมากกว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศ โดยที่ได้รับผลกระทบอันดับต้น ๆอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม

 

ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมเหล่านี้ รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานในการผลิต มีปัจจัยสำคัญจากแรงงานไทยและต่างด้าวติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น ต้องทำการรักษาตัว และอีกส่วนหนึ่งผลจากแรงงานต่างด้าวกลับประเทศช่วงสถานการณ์โควิดใน 2 ระลอกแรก และยังไม่สามารถกลับเข้ามาได้ ทำให้ภาคผลิตเพื่อส่งออกมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ส่งผลกระทบการผลิต การส่งมอบและการส่งออกของประเทศในภาพรวม

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

“ในอุตสาหกรรมอาหารระบุว่าขาดแคลนแรงงานหลายแสนคน ซึ่งตัวเลขจริง ๆ ไม่ชัดเจนว่าเท่าไหร่ บางคนบอกว่า 2 แสน บางคนบอกว่า 3 แสน ขณะที่คุณพจน (พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยสายแรงงาน) ระบุไทยขาดแคลนแรงงานอยู่ประมาณ 5 แสนคน

 

ทั้งนี้ในส่วนของการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว หากรัฐบาลอนุญาตให้นำเข้าได้เสนอให้ทำเป็น Custom Border Sandbox โมเดล โดยรับสมัครแรงงานที่ชายแดน โดยแรงงานต้องได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้ว และต้องมีวัคซีนวีซ่า พอมาถึงก็มีการตรวจคัดกรอง (Swap) อีกครั้งว่ามีเชื้อหรือไม่ หากผ่านก็ให้กักตัว 14 วัน พอครบตามกำหนดก็มีการตรวจคัดกรองโรคอีกครั้ง

 

หากผ่านก็ให้นายจ้างนำรถมารับแล้วพาไปที่โรงงานโดยตรงโดยไม่แวะจอดระหว่างทางที่ไหน ถึงโรงงานแล้วก็ให้ฝ่ายบุคคลรับไม้ต่อในการนำเข้าที่พัก และบริหารจัดการในการทำงานต่อไปไม่ให้ออกมาเพ่นพ่านข้างนอก ถ้าทำได้แบบนี้ก็จะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานและช่วยเพิ่มผลผลิต และขับเคลื่อนการส่งออกได้ดีขึ้น

 

กลับภูมิลำเนาแล้ว 2.5 ล้านคน

นายวิสูตร พันธวุฒิยานนท์ นายกสมาคมนายจ้างผู้ประกอบกิจการรับเหมาแรงงาน กล่าวว่า ในข้อเท็จจริงเวลานี้ที่ได้สัมผัสกับทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการของโรงงานที่มีผู้ติดเชื้อทั่วประเทศมีเป็นหมื่นโรงงาน มีแรงงานติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน ผลจากรัฐบาลยังมีความล่าช้าในการจัดหา และระดมฉีดวัคซีน รวมถึงวัคซีนที่ฉีดยังไม่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ (ซิโนแวค)ทำให้บางส่วนไม่อยากฉีดเพื่อรอวัคซีนที่ดีกว่า

 

วิสูตร  พันธวุฒิยานนท์

 

“เวลานี้ภาคอุตสาหกรรมมีออร์เดอร์แต่ขาดแคลนคนงาน จากส่วนหนึ่งติดเชื้อโควิด ถูกกักตัว 14 วัน ส่วนหนึ่งเข้าถึงการรักษายาก เจ้าของโรงงานก็แบกรับภาระค่าวัคซีน ค่า ATK ไม่ไหว และตั้งเงื่อนไขถ้าจ่ายค่าฉีดวัคซีนให้แล้วต้องอยู่ต่ออย่างน้อย 1 ปี ต้องไม่ย้ายไปไหน เป็นต้น ทำให้พนักงานมีความกดดัน จาก 1.กลัวตาย 2.ไม่อยากถูกกักตัว ทำให้เวลานี้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการกลับไปรักษาตัว หรือกลับภูมิลำเนาไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านคน ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งฉีดวัคซีนภาคแรงงานเป็นการด่วน ให้จบภายในตุลาคมนี้เพื่อยังคงขยายตัวของภาคการส่งออก และฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับคืนมา”

 

ส่วนที่อยากขอให้ภาครัฐดำเนินการเวลานี้คือ การต่ออายุมาตรการลดการจ่ายเงินเข้าประกันสังคม (ผู้ประกันตนตามมาตรา 33) โดยยังคงให้นายจ้างและลูกจ้างจ่ายเงินสมทบฝ่ายละ 2.5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน (จากเดิมฝ่ายละ 5%) ต่อไปอีก หลังมาตรการจะสิ้นสุดในเดือนสิงหาคมนี้

 

  • อาหาร-เกษตรกำลังผลิตหด 50%

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท. มีสมาชิกกลุ่มกว่า 400 ราย กล่าวว่าอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงภาคเกษตรขาดแคลนแรงงานรวมกันหลายแสนคนจากผลกระทบโควิดและจากแรงงานต่างด้าวที่กลับประเทศ ทำให้เวลานี้การใช้กำลังผลิตของหลายโรงงานหายไป 30-50% ส่งผลกระทบต่อการส่งออกที่กำลังไปได้ดี และมีออร์เดอร์เข้ามาจำนวนมาก

 

วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

 

ทั้งนี้จากที่ล่าสุดรัฐบาลมีโครงการ Factory Sandbox ซึ่งเหมาะกับโรงงานขนาดใหญ่ (แรงงาน 500 คนขึ้นไป)ที่มีความพร้อมและมีกำลังจ่ายสำหรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่สำหรับ SMEs ส่วนใหญ่ยังใช้มาตรการ Bubble & Seal แยกคน แยกเชื้อ ทางออกที่ดีที่สุดขอให้รัฐบาลเร่งฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงโดยเร็ว

 

  • ไทยยูเนี่ยนเร่งฉีด3 หมื่นคนงาน

ขณะที่ นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU กล่าวว่า ผลการดำเนินของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ยังขยายตัวได้ดีทั้งแง่ยอดขาย และกำไร แต่ในการดำเนินธุรกิจก็ยังมีปัญหาในหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือปัญหาขาดแคลนแรงงานหลายพันคน จากรัฐบาลปิดรับแรงงานต่างด้าวให้เข้ามาในช่วงสถานการณ์โควิด ทราบว่าขณะนี้กระทรวงแรงงานกำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ คาดจะเริ่มได้เร็ว ๆ นี้

 

ธีรพงศ์  จันศิริ

 

“การแก้ไขปัญหาโควิด ทุกคนรู้อยู่แล้วคือต้องเร่งฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันปัญหาที่ต้นเหตุ ทำอย่างไรจะมีวัคซีนที่เพียงพอ และฉีดให้ได้เร็ว สำหรับพนักงานของไทยยูเนี่ยนฯ ในไทยมีเกือบ 3 หมื่นคนก็ได้รับการฉีดวัคซีนไปพอสมควร อย่างโรงงานที่สงขลา ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่าครึ่งหนึ่ง

 

ส่วนโรงงานที่สมุทรสาคร บางโรงฉีดเข็มแรกได้เกิน 50% บางโรงยังอยู่ระดับ 10-20%ซึ่งทางบริษัทก็ยังรอวัคซีนจากที่เข้าร่วมโครงการ Factory Sandbok ที่จะทำให้เราฉีดวัคซีนได้มากขึ้น เร็วขึ้น ก่อนหน้านี้เราซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สำหรับมาฉีดให้พนักงาน 2 หมื่นโดสสำหรับ1 หมื่นคน ก็กำลังฉีดอยู่ ณวันนี้ยังไม่ต้องซื้อเพิ่ม เพราะที่จองไปก็ยังได้ไม่ครบ” นายธีรพงศ์ กล่าว

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3707 วันที่ 22-25 ส.ค. 2564