นํ้าท่วมภาคเกษตรอ่วม 5.5 ล้านไร่ วัตถุดิบวูบ-โรงงานลดผลิต 50%

28 ต.ค. 2564 | 09:53 น.

น้ำท่วมกระทบหนักภาคเกษตรกว่า 5.5 ล้านไร่ ข้าวมากสุด 3.8 ล้านไร่ พืชผักใช้แปรรูปส่งออกเสียหายรง.แปรรูปลดผลิต 50% เร่งเจรจาคู่ค้าขอชะลอส่งมอบ ชวดโอกาสรับออร์เดอร์ใหม่ ผู้ส่งออกข้าวรอประเมินผลผลิตวูบแค่ไหน ไก่ชี้ไม่กระทบ ห่วงขาดแรงงานหนัก ปั๊มตัวเลขปลายปีไม่ขึ้น

 

ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานผลกระทบจากอุทกภัยช่วงภัยวันที่ 1 ก.ย. -25 ต.ค. 2564 ด้านพืชได้รับผลกระทบในทุกภาคของประเทศรวม 51 จังหวัด รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบ 5.53 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าว 3.80 ล้านไร่ พืชไร่และพืชผัก 1.68 ล้านไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่นๆ 4.18 หมื่นไร่ สำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 6.49 หมื่นราย พื้นที่ 8.39 แสนไร่ คิดเป็นเงิน 1,387.64 ล้านบาท ช่วยเหลือแล้วเกษตรกร 1 ราย พื้นที่ 5 ไร่ คิดเป็นเงิน 6,700 บาท

 

อย่างไรก็ดีผลกระทบที่ตามมาจากพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายคือผลผลิตวัตถุดิบ และสินค้าทางการเกษตรที่ลดลง กระทบต่อโรงงานแปรรูปเพื่อส่งออกที่กำลังไปได้ดีในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ต้องสะดุดลงในหลายสินค้า

 

นํ้าท่วมภาคเกษตรอ่วม 5.5 ล้านไร่ วัตถุดิบวูบ-โรงงานลดผลิต 50%

 

โรงงานแปรรูปส่งออกลดผลิต 50%

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ผลกระทบน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมาถึง ณ ปัจจุบันที่หลายจังหวัดยังมีสถานการณ์อยู่ ส่งผลให้วัตถุดิบทางการเกษตรเพื่อใช้แปรรูปส่งออก รวมถึงจำหน่ายในประเทศได้รับความเสียหาย จากหลายพื้นที่เป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ

 

ตัวอย่างในสินค้าข้าวโพดหวาน ในโซนเขตภาคเหนือที่มีปัญหาน้ำท่วมขังมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงตุลาคม พื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายราว 20-25% ของพื้นที่ ขณะพื้นที่ที่เตรียมไว้สำหรับการเพาะปลูกส่งผลให้แผนการเพาะปลูกล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ ส่งผลให้โรงงานแปรรูปต้องปรับลดกำลังการผลิตลง 20-25%

 

ส่วนพื้นที่ปลูกข้าวโพดหวานในโซนเขต จ.กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และนครราชสีมา ซึ่งเป็นอีกแหล่งผลิตใหญ่ พื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหาย 40-50% ของพื้นที่ ผลผลิตของวัตถุดิบที่เก็บเกี่ยวได้ลดลง 50% ส่งผลให้โรงงานต้องปรับลดกำลังการผลิตลง 15-20%

 

ในสินค้าข้าวโพดฝักอ่อน ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กาญจนบุรี นครปฐม และราชบุรี พื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายราว 90% ของพื้นที่ ส่งผลให้โรงงานต้องปรับลดกำลังการผลิตลงถึง 50% เป็นต้น

 

วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

 

 

ชะลอส่งมอบ-ชวดออร์เดอร์ใหม่

“ตัวอย่างวัตถุดิบพืชผักที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมข้างต้น มีผลให้โรงงานไม่สามารถรับออร์เดอร์ใหม่ได้ ขณะที่สินค้ามีเพียงพอต่อการส่งออกถึงเดือนพฤศจิกายน แต่อาจขาดช่วงในเดือนธันวาคมถึงมกราคมปีหน้า ดังนั้นสิ่งที่ทำได้เวลานี้คือการเจรจาและอธิบายให้คู่ค้ารับทราบถึงข้อเท็จจริง และขอชะลอการส่งมอบ ซึ่งกรณีส่งมอบไม่ได้ตามกำหนดเวลาอาจถูกปรับ แต่ก็จำเป็นต้องเจรจาขอยืดเวลาออกไป เพราะพืชผักเหล่านี้ต้องใช้เวลาปลูกกว่าให้ผลผลิต 45-85 วัน ซึ่งหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายต้องเร่งปลูกต่อไป”

 

นายวิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า จากที่ภาคเอกชนร่วมกับสถาบันอาหารตั้งเป้าหมายการส่งออกสินค้าอาหารปี 2564 ไว้ที่ 1.05 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.1% จากปี 2563 ล่าสุดตัวเลข 7 เดือนแรกปี 2564 ไทยส่งออกสินค้าอาหารได้ 8.06 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มั่นใจว่าปีนี้จะทำได้ตามเป้าหมาย ส่วนหนึ่งขึ้นกับเดือนที่เหลือของปีนี้วัตถุดิบในการผลิตจะมีเพียงพอหรือไม่

 

อย่างไรก็ดีสินค้าอาหารที่ยังขยายตัวได้ดีในเวลานี้ ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารพร้อมทาน รวมถึงอาหารที่ใช้เป็นวัตถุดิบป้อนให้กับกลุ่ม HORECA (โรงแรม,ร้านอาหาร,ร้านกาแฟและธุรกิจจัดเลี้ยง) ที่เริ่มกลับมาขยายตัวได้ดี

 

นํ้าท่วมภาคเกษตรอ่วม 5.5 ล้านไร่ วัตถุดิบวูบ-โรงงานลดผลิต 50%

 

ผลผลิตข้าวไม่วูบมีแต่เพิ่ม

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรฯ ที่ระบุนาข้าวได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมล่าสุด 3.8 ล้านไร่นั้น ยังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปว่าปริมาณผลผลิตข้าวจะเสียหายไปเท่าใด เพราะในจำนวนนาข้าวที่ได้รับผลกระทบจะมีทั้งที่เสียหายสิ้นเชิง และเสียหายบางส่วน ดังนั้นคงต้องรอข้อมูลที่ชัดเจนจากผลการสำรวจอย่างเป็นทางการอีกครั้ง อย่างไรก็ดีส่วนตัวคาดผลผลิตข้าวของไทยในปีนี้ (ปีการผลิต 2564/2565) ภาพรวมคงไม่ได้ลดลงจากปีที่ผ่านมา คาดจะมีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 32 ล้านตัน คิดเป็นประมาณ 20 ล้านตันข้าวสาร(จากปีผลิต 2563/2564 มีผลผลิตประมาณ 28 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 16 ล้านตันข้าวสาร) เนื่องจากผลผลิตข้าวนาดอนปีนี้ได้ผลดีทดแทนนาลุ่มที่เสียหาย และรัฐบาลมีโครงการประกันรายได้ข้าว จูงใจเกษตรกรเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก

 

ชูเกียรติ  โอภาสวงศ์

 

โรงงานไก่ร้องขาดแคลนแรงงาน

ด้านนายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า จากข้อมูลระบุน้ำท่วมครั้งนี้มีสัตว์ปีกได้รับผลกระทบกว่า 11 ล้านตัว ในจำนวนนี้ไม่ได้ระบุว่าเป็น ไก่ เป็ด หรือนกจำนวนเท่าใด แต่จากการประเมินคงเป็นไก่พื้นเมืองมากกว่า เพราะสวนใหญ่ฟาร์มเลี้ยงไก่เพื่อแปรรูปส่งออก หรือจำหน่ายในประเทศจะมีที่ตั้งในพื้นที่สูง หรือเตรียมการรองรับน้ำท่วมไว้แล้ว เช่นการอพยพไก่เมื่อน้ำใกล้มาถึง อาทิ ในเขต จ.ลพบุรี อ่างทอง เป็นต้น ดังนั้นน้ำท่วมครั้งนี้ไม่มีนัยผลกระทบที่สำคัญต่อผลผลิตไก่ รวมถึงโรงงานแปรรูปไก่เพื่อส่งออกที่จะมีวัตถุดิบที่ลดลง

 

 “ปัญหาหนักสุดของโรงงานแปรรูปไก่เวลานี้ไม่ใช่เรื่องน้ำท่วม แต่เป็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากผลกระทบโควิด ที่ส่วนหนึ่งแรงงานต่างด้าวกลับประเทศ และแรงงานไทยกลับต่างจังหวัดจากมีคนงานติดเชื้อโควิด ทำให้มากกว่า 10 โรงงานต้องเปิดๆ ปิดๆ ผลิตไม่ได้เต็มร้อยก่อนหน้านี้ เวลานี้ทั้งระบบอุตสาหกรรมไก่ขาดแคลนแรงงานอยู่กว่า 2 หมื่นคน ขณะที่ออเดอร์ปลายปีดีขึ้นแต่มีแรงงานไม่เพียงพอ เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข ทำให้เป้าหมายการส่งออกสินค้าไก่ทั้งปีนี้ที่ 9.5-9.6 แสนตันยังต้องลุ้นว่าจะทำได้หรือไม่”นายคึกฤทธิ์ กล่าว

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3726 วันที่ 28 -30 ตุลาคม 2564